เพราะบางอย่างได้ขาดหายไป…ทักษะการรับรู้อารมณ์ ความรู้สึก การเคลื่อนไหวจากสิ่งรอบตัว แล้วสะท้อนกลับเข้ามายังภายในของเราจึงน้อยตามลงไปด้วย
เหล่านักปฏิบัติการศิลปะการแสดง นำโดย กิตติ มีชัยเขตต์ คือกลุ่มคนที่มองเห็นว่าช่องว่างที่เว้าแหว่งนี้มีพื้นที่กว้างใหญ่จนเกินกว่าจะปล่อยผ่าน และด้วยสภาวะสังคมไทยในปัจจุบัน ที่คนส่วนใหญ่ละทิ้งความพยายามที่จะเข้าอกเข้าใจกันได้อย่างง่ายดาย จนเป็นสาเหตุของปัญหาความขัดแย้งตามมาทั้งในระดับความสัมพันธ์ของครอบครัว ชุมชน และระหว่างบุคคล
“ขัดกันอย่างมิตร” โครงการสร้างสรรค์การแสดงร่วมสมัยในรูปแบบ “สหศิลป์” ที่เน้นศิลปะการละคร
อย่างทักษะการแสดง (Acting) เป็นฐาน ผสมผสานกับสิ่งสำคัญที่ขาดหายไป นั่นคือทักษะความเข้าอกเข้าใจ (Empathy) เข้ามาสู่กระบวนการสร้างสรรค์งานแสดง ถ่ายทอดเป็นชุดการเรียนรู้ผ่านเรื่องราวของการอำลา
ผู้เสียชีวิต และข้อความต่าง ๆ จากผู้ที่มีชีวิตอยู่ถึงผู้ที่จากไป พร้อมให้ผู้เข้าร่วมการแสดงและผู้ชมได้แลกเปลี่ยนมุมมองซึ่งกันและกัน เพื่อสร้างสรรค์เป็นผลงานนิทรรศการการแสดงร่วมสมัย ซึ่งจะช่วยนำทักษะความสามารถในการเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่นให้กลับมาอยู่ในที่ที่ควรอยู่อีกครั้ง
ผลงานศิลปะการแสดงร่วมสมัย นิทรรศการการแสดง “ขัดกันอย่างมิตร” จำนวน 6 ชุดการแสดง เริ่มจัดแสดงสู่สาธารณชน ณ เทพศิริ ครีเอทีฟ สเปซ จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2564 โดยนำเสนอในรูปแบบ Immersive theatre ที่ผู้ชมสามารถมีส่วนร่วมในการแสดงได้ โดยแต่ละชุดการแสดงเป็นความคิดของผู้ที่เข้าร่วมนิทรรศการที่มีต่อชีวิตของผู้อื่นซึ่งต้องเผชิญกับความสูญเสีย เป็นการสร้างองค์ความรู้และภูมิปัญญาศิลปะการแสดงร่วมสมัย ที่สื่อถึงความเข้าอกเข้าใจต่อเรื่องความตายให้กับผู้ยังมีชีวิตอยู่
เพราะวันใดวันหนึ่ง อาจเป็นเราเองที่เป็นฝ่ายสูญเสีย ไม่ว่าจะสูญเสียเพื่อน สูญเสียคนรัก สูญเสียญาติพี่น้อง หรือแม้แต่สูญเสียตัวเองให้กับความด้านชา ไร้ซึ่งความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น“ขัดกันอย่างมิตร” จึงเป็นอีกระดับของการออกแบบศิลปะการแสดงร่วมสมัยที่เพิ่มคุณภาพทางจิตใจ และเป็นจุดเริ่มต้นของการช่วยกันเปลี่ยนสังคมที่เว้าแหว่งขาดหายให้กลับมาเต็มเหมือนเดิม