คลังข้อมูลภาพกราฟิกที่สะท้อนอัตลักษณ์พื้นถิ่นกว่า 800 ชิ้น ผลงานออกแบบเรขศิลป์ และการสร้างสรรค์งานออกแบบเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในชุมชน โดยใช้ต้นทุนทางศิลปวัฒนธรรมไทยมาประยุกต์ใช้จนเกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ และสร้างความสุขให้กับชุมชน ทั้งหมดคือผลลัพธ์ที่ได้จากโครงการ ๑๐๐ แรงบันดาลไทย : สร้างคนบันดาลไทย โดย กลุ่มเซียมไล้ ซึ่งดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561
จากประสบการณ์ทำงานตลอดระยะเวลา 3 ปี ทำให้สมาชิกในกลุ่มเซียมไล้ทุกคนเกิดประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในการทำงานออกแบบร่วมสมัยที่ใช้ต้นทุนทางศิลปวัฒนธรรมไทย ความรู้และความเชี่ยวชาญเหล่านี้จะสร้างประโยชน์ให้กับสังคมและประเทศชาติได้มากขึ้น หากได้ถ่ายทอดไปสู่นักออกแบบเรขศิลป์หรือบุคคลอื่นที่สนใจ
ในปีพ.ศ. 2564 กลุ่มเซียมไล้จึงริเริ่มโครงการ “๑๐๐ แรงบันดาลไทย : สร้างคนบันดาลไทย” เพื่อขยายกองกำลังนักออกแบบเรขศิลป์ไทยให้ต่อยอดเป็นงานออกแบบร่วมสมัยที่เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ โดยจัดกิจกรรมการอบรมเชิงปฏิบัติการร่วมกับสถาบันการศึกษาในระดับอุดมศึกษาภายใต้แนวคิด แวดล้อมคือตัวตนและสิ่งบ่งชี้พื้นถิ่น ให้แก่นักออกแบบเรขศิลป์หรือผู้สนใจในภูมิภาคต่าง ๆ
เริ่มจากการลงพื้นที่เก็บข้อมูลอัตลักษณ์ชุมชนเพื่อสร้างคลิปอาร์ต และนำไปออกแบบผลิตภัณฑ์เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชน การอบรมแต่ละครั้งมีเป้าหมายให้ผู้เข้าอบรมแต่ละรุ่นสร้างคลิปอาร์ตที่สะท้อนอัตลักษณ์พื้นถิ่นจำนวน 100 ชิ้น และออกแบบเรขศิลป์ที่ใช้ต้นทุนทางศิลปวัฒนธรรมไทย เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจจำนวน 1 ชุด ซึ่งได้จัดอบรม 3 ครั้ง ดังนี้
ครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 5 – 7 มีนาคม พ.ศ. 2564 ณ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง จังหวัดลำปาง มีผู้เข้าร่วมอบรม 14 คน
ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 26 – 28 มีนาคม พ.ศ. 2564 ณ คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี จังหวัดปัตตานี มีผู้เข้าร่วมอบรม 12 คน
ครั้งที่ 3 ระหว่างวันที่ 20 – 21 สิงหาคม พ.ศ. 2564 เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ทำให้ไม่สามารถจัดกิจกรรม ณ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ผังเมืองและนฤมิตศิลป์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม จังหวัดมหาสารคาม ตามกำหนดการเดิมได้ การอบรมในครั้งนี้จึงปรับรูปแบบการอบรมเป็นแบบออนไลน์ผ่านโปรแกรมซูม (ZOOM) และถ่ายทอดสดทางเฟซบุ๊กแฟนเพจ ๑๐๐ แรงบันดาลไทย โดยมีผู้เข้าร่วมอบรม 18 คน
นอกจากจะได้ถ่ายทอดองค์ความรู้การออกแบบเรขศิลป์ที่ใช้ต้นทุนทางศิลปวัฒนธรรมไทย เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ และส่งเสริมให้เห็นคุณค่าของศิลปวัฒนธรรมไทยแล้ว การอบรมเชิงปฏิบัติการทั้ง 3 ครั้งยังช่วยเพิ่มจำนวนคลังข้อมูลภาพคลิปอาร์ตที่สะท้อนอัตลักษณ์พื้นถิ่นขึ้นอีก 300 ชิ้น รวมเป็นผลงานทั้งหมดกว่า 1,000 ชิ้น กลายเป็นสาธารณประโยชน์อันยิ่งใหญ่ที่ช่วยเพิ่มจำนวนผลงานออกแบบที่ใช้ต้นทุนทางศิลปวัฒนธรรมไทยในการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ
นับเป็นการยกระดับทักษะที่ตอบโจทย์ความต้องการในการพัฒนาขีดความสามารถ เปรียบเสมือนการสร้างกองกำลังเล็ก ๆ ที่มีความสามารถพิเศษ เพื่อเข้าไปช่วยเหลือกองกำลังอื่น ๆ ในการกู้วิกฤติเศรษฐกิจของประเทศในปัจจุบัน ที่ต้องเน้นการพึ่งพาตนเอง และสร้างความเข้มแข็งจากฐานราก