“โขน-Temporary” เกิดจากมุมมองที่ว่าโขนนั้นดูเป็นศิลปะที่คงรูปของความดั้งเดิมอย่างยาวนาน แต่ก็สามารถนำมาเล่นกับความเปลี่ยนแปลงและความร่วมสมัย ซึ่งเป็นการแปลงคำจากภาษาอังกฤษคำว่า Contemporary หมายถึงร่วมสมัย และอีกนัยหนึ่ง คำว่า Tempo ก็แปลว่าจังหวะ ซึ่งเชื่อมโยงไปยังจังหวะในการเล่นโขนได้อีกด้วย
ด้วยมวลประสบการณ์ที่สั่งสมจนเกิดเป็นความเข้าใจ และพบว่าคลิปวิดีโอการแสดงหรือ Video performance กําลังเป็นที่สนใจในต่างประเทศ ขณะเดียวกันงานการแสดง (Performance) ในไทยอย่าง โขน ก็มีความน่าสนใจไม่แพ้กัน
เมธัส จันทวงศ์ จึงนําการแสดงโขนดั้งเดิมของไทยมาปรับรูปแบบและประยุกต์เข้ากับความร่วมสมัยของงานทดลองในเชิงวิดีโออาร์ต (Video Art) ที่ตนเองถนัด บวกกับงานแอนิเมชัน (Animation) โดยยึดท่าเดิมของโขนเป็นหลัก และนำเนื้อเรื่องบางส่วนของวรรณคดีเรื่อง รามเกียรติ์ มาตีความใหม่ โดยร่างแนวคิด รวมทั้งศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับรามเกียรติ์และโขนพระราชทาน รวบรวมท่ารำโขนเพื่อนำมาประยุกต์ใช้ ด้วยการใช้การโรโทสโคป (Rotoscope) ซึ่งเป็นเทคนิคการสร้างภาพเคลื่อนไหวด้วยเทคนิคการวาดหรือเพ้นต์ตามภาพจากวิดีโอฟุตเทจ (Video Footage) แบบเฟรมต่อเฟรม เพื่อใช้ในฉากสมจริง ด้วยการสร้างเส้นและสีขึ้นบางส่วน เพื่อเป็นวัตถุดิบในการปรับแต่งและศึกษาการเคลื่อนไหว
จากนั้นจึงผสมผสานด้วยกระบวนการทางดิจิทัลและทดลองนำมาแปลงเป็นรูปภาพ (visualization) และผลิตงานวิดีโออาร์ต ซึ่งขั้นตอนทั้งหมดได้ดำเนินงานในระหว่างเดือนมกราคม – สิงหาคม พ.ศ. 2564
เรื่องราวของรามเกียรติ์ ในมิติใหม่ซึ่งปรากฏอยู่ในวิดีโออาร์ต เริ่มที่นิ้วของนนทกซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นเรื่อง มีผู้คนตกจากฟากฟ้าราวกับเม็ดฝน แสดงให้เห็นถึงการอวตารของเหล่าเทพและตัวละครต่าง ๆ บนสวรรค์ ที่จุติลงมาในเมืองมนุษย์ มีการนำ “ดอกไม้ทัด” ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของโขนมาใส่ในเรื่อง เพื่ออ้างอิงถึงการเปลี่ยนฉากเข้าสู่เรื่องของโขน
ลายเส้นที่ดูสนุกสนานและแปลกตาใน โขน – Temporary สื่อให้เห็นถึงการเคลื่อนไหวอันสวยงามและมีเอกลักษณ์เฉพาะของโขนในรูปแบบวิดีโออาร์ต เป็นการนำเอาศิลปะดั้งเดิมมาผสมผสานกับความร่วมสมัย เกิดเป็นความแปลกใหม่ที่ยังคงกลิ่นอายดั้งเดิมเอาไว้ได้อย่างงดงาม ซึ่งในอนาคตจะนำไปเพื่อเผยแพร่และจัดแสดงในระดับนานาชาติ เช่น เทศกาลภาพยนตร์ นิทรรศการศิลปะ ซึ่งจะช่วยผลักดันโขนไทยให้ก้าวไปไกลยิ่งกว่าเดิม