ศาลเจ้าจีนริมคลองมหาสวัสดิ์ตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม เมื่อนำศิลปะช่วยแต่งแต้มสีสัน “ศาลเจ้า” หลังเก่าจึงเปลี่ยนกลายเป็น “แหล่งเรียนรู้” แห่งใหม่ เปรียบเสมือนพื้นที่ศิลปะสาธารณะที่กลายเป็นศูนย์กลางของชุมชน
การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้เกิดจากการมองเห็นปัญหาของระบบนิเวศที่เสียหาย ขาดดุลยภาพ และขาดสุนทรียภาพในพื้นที่สาธารณะ ซึ่งหากปล่อยไว้จะหมดคุณค่าใช้สอย อีกทั้งยังส่งผลเสียต่อทั้งสุขภาพทางกายและสุขภาพทางใจของคนในชุมชน
วิจิตร อภิชาติเกรียงไกร ผู้นำนวัตกรรมแนวคิดเชิงศิลปะที่เรียกว่า “นิเวศสุนทรีย์” ซึ่งมีองค์ประกอบที่สำคัญคือ การใช้ศิลปะร่วมสมัยและวัฒนธรรมทางสังคมเข้ามาออกแบบพื้นที่ เน้นการมีส่วนร่วมกับชุมชนผ่านวิถีชีวิตและกระบวนการทางสังคม เพื่อเพิ่มคุณค่าและสร้างประโยชน์ที่ยั่งยืนให้พื้นที่สาธารณะ และนำมาใช้กับการเปลี่ยนแปลงของศาลเจ้าจีนริมคลองมหาสวัสดิ์ ซึ่งเป็นศาลเจ้าของชุมชนชาวจีนรุ่นแรกที่ย้ายเข้ามาจับจองพื้นที่ทำเกษตรในยุคก่อน
รอบ ๆ ศาลเจ้าแห่งนี้ประกอบด้วยชุมชนสองฝั่งคลอง มีศูนย์กลางของชาวบ้านคือวัดสุวรรณาราม เป็นพื้นที่ที่มีความโดดเด่นทั้งทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม แต่ปัจจุบันกำลังเกิดการเปลี่ยนแปลงทางภูมิทัศน์อย่างรวดเร็ว พื้นที่ที่เคยประกอบด้วยธรรมชาติสองฟากคลอง ถูกทับถมด้วยวัสดุก่อสร้างและอาคารสมัยใหม่ที่จัดวางอย่างไร้ระเบียบ
โครงการ “สร้างสรรค์พื้นที่ทางศิลปะเพื่อชุมชน การแปลงศาลเจ้าเป็นหอศิลปวัฒนธรรม” โดย วิจิตร อภิชาติเกรียงไกร ได้เปลี่ยนแปลงพื้นที่ศาลเจ้าสุบินหรือศาลเจ้าเห้งเจีย ริมคลองมหาสวัสดิ์ ให้กลายเป็นหอศิลปวัฒนธรรม เพื่อจัดกิจกรรมทางศิลปะต่าง ๆ เช่น นิทรรศการ การแสดง การร้องแหล่ การสอนวาดภาพ และการเสวนาออนไลน์“หอศิลป์ศาลเจ้า” เป็นพื้นที่ที่เปิดโอกาสให้ศิลปินหลายแขนงได้ร่วมกันสร้างสรรค์และนำผลงานมาจัดแสดง ขณะเดียวกันชาวชุมชนในพื้นที่และนอกพื้นที่ยังสามารถใช้ห้องต่าง ๆ ได้ เช่น มีการจัดเสวนาออนไลน์เรื่อง “บทเรียนของหอศิลป์ศาลเจ้า” เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 และการแสดง “สิ่งของแทนคุณค่าคนริมคลอง” เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม – 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 ที่ชุมชนได้แสดงตัวตนผ่านสิ่งของเครื่องใช้ธรรมดา แต่มีความหมาย มีที่มา และมีความสัมพันธ์ที่เล่าถ่ายทอดเป็นเรื่องราว
นอกจากนั้นสมาชิกชุมชนใหม่ที่เป็นศิลปิน ซึ่งย้ายเข้ามาอาศัยอยู่ในพื้นที่ ยังได้โอกาสนำเสนอตัวเองผ่านนิทรรศการที่ชื่อ “เรื่องเกิดที่ริมคลอง” เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ – 26 มีนาคม พ.ศ. 2564 และนิทรรศการ “ศิลปินริมคลอง” ที่จัดแสดงวันที่ 5 มิถุนายน – 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2564
ศิลปะที่จัดแสดงในหอศิลป์ศาลเจ้า นอกจากจะได้ทำหน้าที่การส่งเสริมศิลปะร่วมสมัยแล้ว ยังได้สร้างปรากฏการณ์การจัดระบบนิเวศแวดล้อมด้วยหลักสุนทรียศาสตร์ เป็นตัวอย่างการพัฒนาพื้นที่สร้างสรรค์ที่ใช้กระบวนการมีส่วนร่วมตามแนวคิด “สาธารณศิลป์เพื่อนิเวศสุนทรีย์” ที่ช่วยสร้างความสัมพันธ์ของชาวบ้านในชุมชน ซึ่งมีความหลากหลายทั้งทางสถานะและอาชีพ ศิลปินได้ใช้แนวคิดทางศิลปะ ประกอบการขับเคลื่อนสังคมด้วยการบูรณาการแนวคิดทางสังคมศาสตร์ จนเกิดความสัมพันธ์เชิงลึก
กิจกรรมทางศิลปะนี้ได้ดึงสังคมภายนอกเข้ามาพบปะกับชุมชน และสร้างสรรค์ปรากฏการณ์เชิงสุนทรียภาพให้กับพื้นที่สาธารณะที่กำลังเผชิญกับความสูญเสียอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลง ณ ศาลเจ้าสุบินหรือศาลเจ้าเห้งเจีย ที่ขณะนี้ได้กลายเป็น “หอศิลป์ศาลเจ้า หอศิลปวัฒนธรรมชุมชนริมคลองมหาสวัสดิ์”