เรื่องราวของสงครามกรุงทรอยที่ปรากฏในวรรณกรรมตะวันตกหลายเรื่อง และเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก เมื่อนำมาผสมผสานกับนาฏกรรมการแสดงโขนและละครไทย จึงกลายเป็นละครรำไทยเรื่องแรกที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับตำนานกรีกโบราณ
“ละครรำร่วมสมัยเรื่อง เฮเลนออฟทรอย” โดย จารุพงศ์ จันทรีย์ เป็นโครงการที่รวบรวมเนื้อเรื่องสงครามกรุงทรอยจากหลากหลายสำนวนต่างมาตีความให้เหมาะกับรูปแบบการแสดงของไทย โดยนำเอกลักษณ์สำคัญของการแสดงโขนและละครไทยมาปรับใช้ และสร้างสรรค์ผลงานโดยผสมผสานศิลปะสองวัฒนธรรม ได้แก่ ตำนานสงครามกรุงทรอย กับการแสดงโขนและละครรำของไทย นำมาปรุงแต่งใหม่จนเป็นการแสดงร่วมสมัยที่เน้นความแปลกใหม่ทั้งในสายตาผู้ชมระดับชาติและนานาชาติ
จารุพงศ์เริ่มประพันธ์บทการแสดงระหว่างเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 ด้วยการผสมผสานบทพากย์โขนและกลอนบทละครไทยเข้าด้วยกัน กลายเป็นกลอนบทละครในละครรำร่วมสมัยเรื่องเฮเลนออฟทรอย จากนั้นจึงออกแบบเครื่องแต่งกาย อุปกรณ์ประกอบการแสดง คัดเลือกผู้แสดง และซ้อมย่อย
มีการเผยแพร่องค์ความรู้ที่ได้จากการถอดบทเรียนในระหว่างดำเนินโครงการ โดยการบรรยายพิเศษและ
ให้สัมภาษณ์แก่นักศึกษาวิทยาลัยนาฏศิลปอ่างทอง และเผยแพร่เอกสารสรุปองค์ความรู้ที่ได้จากการสร้างสรรค์ผลงาน ระหว่างวันที่ 12 – 19 สิงหาคม พ.ศ. 2564
เฮเลนออฟทรอย เกิดจากการสร้างละครรำร่วมสมัยผสานศิลปะไทยและตะวันตก นับเป็นการ “สร้างงานศิลปะที่ทรงคุณค่าและน่าสนใจ” แทนการ “ชี้ให้เห็นคุณค่า” จนเกิดการเปลี่ยนโฉมละครรำไทยให้มีความร่วมสมัย และเปิดโอกาสให้ผู้ชมทั่วโลกได้มีโอกาสสัมผัสเอกลักษณ์อันมีเสน่ห์ของการแสดงร่วมสมัยไทย