“เมืองสิด-แหมะเว” จากวรรณกรรมที่คุ้นหูสู่การท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์
เมื่อจุดเด่นของวรรณกรรมคือความสัมพันธ์กับลักษณะทางภูมิศาสตร์ที่สำคัญของท้องถิ่น และปัจจุบันสถานที่เหล่านั้นยังเต็มไปด้วยตำนานเรื่องเล่าขาน การประยุกต์เรื่องราวเหล่านี้ให้เข้ากับกระแสท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ และการท่องเที่ยวธรรมชาติได้เปลี่ยนพื้นที่ที่เคยเงียบเหงาในจังหวัดพัทลุงให้กลายเป็นแลนด์มาร์กแห่งใหม่ที่เต็มไปด้วยชีวิตชีวาและเรื่องเล่า
เมืองสิด–แหมะเว วรรณกรรมท้องถิ่นเก่าแก่ของจังหวัดพัทลุง เป็นเรื่องราวที่หลายคนคุ้นหู เพราะนำมาใช้ทั้งในแง่ของความบันเทิง การศึกษา และการสืบค้นประวัติศาสตร์ท้องถิ่น
วรรณกรรมเรื่องนี้เล่าถึงชายหนุ่มมุสลิมจังหวัดตรังชื่อ “เมืองสิด” ที่แต่งงานกับมุสลีมะห์ชาวกงหรา จังหวัดพัทลุง ต่อมาภรรยาเสียชีวิต เมืองสิดจึงคิดมีความสัมพันธ์กับ “แหมะเว” ผู้เป็นน้องสาวของภรรยา แต่ในวัฒนธรรมชาวใต้นั้น การกระทำนี้ถือเป็นเรื่องต้องห้าม เขาจึงต้องใช้วิธีการผิดกฎหมายบ้านเมือง คือ การฉุดคร่า โดยการใช้เวทมนตร์คาถาต่าง ๆ พาแหมะเวเดินทางในป่าใหญ่ เพื่อที่จะหนีข้ามไปยังเมืองตรัง ระหว่างทางมีการบรรยายถึงสถานที่สำคัญในเขตอำเภอกงหรา กล่าวถึงสัตว์ป่าและนิทานพื้นบ้านต่าง ๆ มากมาย
โครงการศิลปะฟื้นชีวิตวรรณกรรม นำมูลค่าชุมชน : การประยุกต์ “เมืองสิด–แหมะเว” โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิเชฐ แสงทอง คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นการเชื่อมโยงการลงพื้นที่เก็บข้อมูลเพื่อค้นหาวรรณกรรมประจำถิ่น จากเรื่องเล่ามาสู่การสร้างสรรค์งานศิลปะร่วมสมัยในรูปแบบการ์ตูน อันเป็นการสร้างคุณค่าและความหมายแก่การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม โดยสร้างเว็บไซต์เป็นพื้นที่ในการนำเสนอผ่านแผนที่ทางวัฒนธรรม และสถานที่จริงที่เกิดเหตุการณ์ในวรรณกรรมเรื่อง “เมืองสิด–แหมะเว” พร้อมทั้งเชื่อมโยงไปสู่สินค้าชุมชน เป็นอีกช่องทางหนึ่งในการสร้างรายได้ให้คนในชุมชน
โครงการนี้ดำเนินงานในเดือนมกราคม – สิงหาคม พ.ศ. 2564 เริ่มจากการศึกษาประวัติศาสตร์ ตำนาน และวรรณกรรมของชุมชนในลักษณะงานวิจัยขนาดสั้น นำมาจัดทำเป็นหนังสือรายงานการศึกษาประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมชุมชนกงหรา “เร้นรัก เมืองนกรำ” เรื่องเริงรมย์ใต้เงารัฐท้องถิ่นใน “เมืองสิด–แหมะเว” จำนวน 200 เล่ม รวมทั้งออกแบบสร้างสรรค์วรรณกรรมเรื่อง เมืองสิด–แหมะเว เป็นหนังสือการ์ตูนภาพ จำนวน 1,000 เล่ม เพื่อเผยแพร่สำหรับการเรียนรู้และการมีส่วนร่วมของเยาวชน
นอกจากนี้ยังได้ออกแบบและจัดทำป้ายเรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์ที่บอกเล่าเรื่องราวและความหมายของพื้นที่สำคัญ ซึ่งเกี่ยวข้องกับเรื่องราวและพื้นฉากในวรรณกรรมท้องถิ่น แล้วนำไปติดตั้งที่ กุโบร์ทวดไมนุ้ย และเขาพญาโฮ้ง สถานที่สำคัญในฉากวรรณกรรม มีการจัดนิทรรศการออนไลน์ “กงหราในนิทาน” โดยใช้คลิปการ์ตูนภาพประกอบเสียงจากวรรณกรรมเรื่อง เมืองสิด–แหมะเว ในการจำลองบรรยากาศจากวรรณกรรม เพื่อกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวและคนในท้องถิ่นเห็นถึงความสำคัญและเข้ามามีส่วนร่วม
เมื่อผู้คนได้ตามรอยวรรณกรรมด้วยการไปเยือนสถานที่อันมีเรื่องเล่าทรงคุณค่า ก็ยิ่งทำให้เราประจักษ์ว่าการประยุกต์วรรณกรรมเก่าแก่ในท้องถิ่นเข้ากับสื่อศิลปะสมัยใหม่ ยิ่งทำให้เรื่องราวเหล่านั้นสร้างคุณค่าและมีบทบาทต่อการเปลี่ยนแปลงของชุมชนไปในทิศทางที่ดีกว่าเดิม