อีกหนึ่งมรดกทางวัฒนธรรมอันทรงคุณค่า ที่เป็นรากเหง้าของพื้นฐานศิลปะร่วมสมัยหลายแขนง คือ “นาฏศิลป์ไทย”
แม้ปัจจุบันนาฏศิลป์ไทยกำลังเผชิญหน้ากับความท้าทายและการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการแสดงนาฏศิลป์ของโขน งานศิลปะแขนงหนึ่งที่สืบทอดกันมาในลักษณะการถ่ายทอดแบบรุ่นสู่รุ่น ท่องจำ และทำซ้ำ แต่ยังไม่เคยมีการรวบรวมองค์ความรู้เกี่ยวกับที่มาของแนวคิดท่ารำในแม่บทใหญ่อย่างเป็นแบบแผน
พิเชษฐ กลั่นชื่น ศิลปินร่วมสมัยดีเด่น รางวัลศิลปินศิลปาธร สาขาศิลปะการแสดง ประจำปี พ.ศ. 2549 นักเต้นและนักออกแบบท่าเต้นไทยร่วมสมัย ผู้เห็นความสำคัญของการสืบสานวัฒนธรรมและความงามที่มีอยู่ในการแสดงนาฏศิลป์ของโขน ใช้เวลากว่า 16 ปี ในการศึกษา คิดค้น ทดลอง และถอดโครงสร้างท่ารำ โดยให้ความสำคัญกับรูปแบบท่าทางที่คิดค้นโดยครูนาฏศิลป์ดั้งเดิม จนกระทั่งค้นพบ “จิตวิญญาณของความงามในการเคลื่อนไหว” ที่ซ่อนอยู่ในท่ารำแม่บทใหญ่ จึงถอดชุดองค์ความรู้จากท่ารำแม่บทใหญ่ และนำเสนอเป็นไดอะแกรม (Diagram) ควบคู่กับภาพท่ารำ 59 ท่า พร้อมองค์ประกอบหลักที่มีอยู่ในท่าร่ายรำของนาฏศิลป์โขน
ในปี พ.ศ. 2564 พิเชษฐ กลั่นชื่น และคณะ ร่วมกับสมาพันธ์ศิลปะการแสดงระดับอุดมศึกษาแห่งประเทศไทย ได้จัดทำโครงการ “สืบสาน สื่อสารนาฏศิลป์ไทย ผ่านการแสดง สาธิต หมายเลข 60 – เทพพนม ร่วมกับสถาบันการศึกษา 4 แห่ง ทั่วประเทศ” จัดกิจกรรมผ่านการถ่ายทอดสดในระบบไลฟ์สตรีมมิ่งทางโปรแกรมซูม (Zoom) เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ และขยายผลให้เกิดการแลกเปลี่ยน ตระหนักถึงคุณค่าของนาฏศิลป์ไทยในระดับประเทศ โดยเฉพาะกับกลุ่มคนรุ่นใหม่ เยาวชน นิสิต นักศึกษา ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ เข้าใจบริบทความเปลี่ยนแปลงของสังคม และมีบทบาทสำคัญในการสืบสานคุณค่าดั้งเดิมของศิลปวัฒนธรรมไทย
กิจกรรมครั้งนี้จัดขึ้นเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2564 ได้แก่ การแสดง สาธิต “หมายเลข 60 – เทพพนม” และเสวนาชวนพูดคุยหลังการแสดง ระหว่างศิลปินและอาจารย์จากสถาบันการศึกษา 4 แห่งทั่วประเทศ ได้แก่
1. สมาพันธ์ศิลปะการแสดงอุดมศึกษา
2. สาขานาฏศิลป์และกำกับ คณะดนตรีและการแสดง มหาวิทยาลัยบูรพา
3. สาขานาฏศิลป์ไทย มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา
4. หลักสูตรนาฏศิลป์และการแสดง คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา
“หมายเลข ๖๐ – เทพพนม” เป็นอีกหนึ่งผลงานที่ช่วยยืนยันจิตวิญญาณของความงามในการเคลื่อนไหวที่ไร้กาลเวลาของนาฏศิลป์ไทย รวมทั้งความสามารถของศิลปินเจ้าของผลงาน ซึ่งผลิตสื่อที่นำ “สาร” อันเป็นสื่อกลางในการถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่เยาวชนรุ่นหลัง
ในฐานะคนรุ่นใหม่ ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญที่ควรเข้าใจและตระหนักถึงที่มา วีธีการ และแนวคิดดั้งเดิมของนาฏศิลป์โขน เพื่อนำไปสานต่อได้อย่างมีแบบแผน สร้างความเข้าใจในวิถีที่แตกต่างไปจากการฝึกฝนแบบทำซ้ำหรือท่องจำ และนำพานาฏศิลป์ไทยเข้ามาสู่เวทีร่วมสมัยได้อย่างภาคภูมิ