ศิลปะที่เล่นกับการเคลื่อนไหวและการทรงตัวของร่างกายอย่าง “การเต้น” เป็นอีกหนึ่งศาสตร์และศิลป์ที่ไร้พรมแดน เป็นจุดเชื่อมต่อสัมพันธภาพระหว่างกันของคนทุกชาติ ทุกภาษา ไม่ว่ากระแสของเทคโนโลยีและสื่อออนไลน์จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร แต่การเต้นก็ยังเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมที่มักจะนำมาเป็นสื่อกลางกระตุ้น และปลุกเร้ากระแสของการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมเสมอ
โครงการสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาศิลปะการเต้นของเยาวชนไทย โดยวัลลภา ปัจฉิมสวัสดิ์ แห่งสถาบันซีเอสทีดีประเทศไทย เปิดโอกาสให้ผู้ที่รักการเต้นได้มีโอการเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพจากผู้เชี่ยวชาญ ไปสู่เวทีมาตรฐานสูงระดับสากลในภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิก และต่อยอดพัฒนาไปในระดับอาชีพ โดยสร้างพื้นที่ให้กับเยาวชนไทยได้แสดงออก และเผยแพร่ศิลปะร่วมสมัยในรูปแบบต่าง ๆ ต่อยอดองค์ความรู้ รวมทั้งสร้างการรับรู้ว่าศิลปวัฒนธรรมเป็นฐานสำคัญในการใช้ชีวิต
เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) จึงมีการปรับแผนรูปแบบการดำเนินโครงการเป็นการสัมมนาเชิงปฏิบัติการทางระบบออนไลน์ และยังคงการดำเนินโครงการตามวัตถุประสงค์อย่างเต็มรูปแบบ โดยมีการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “ศิลปะการเต้น” จำนวน 4 กิจกรรม ผ่านทางระบบออนไลน์ด้วยโปรแกรมซูม (Zoom) ในวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 ได้แก่
• การเรียนศิลปะการเต้นแบบเปิดกว้าง เพื่อเน้นเทคนิคและประสบการณ์การเต้นในรูปแบบต่าง ๆ
• การเรียนศิลปะการแสดงที่เน้นพื้นฐานด้านการแสดงออกบนเวที
• การบรรยายเกี่ยวกับศิลปะการเต้นที่เน้นหัวข้อการเตรียมความพร้อมสู่อนาคต
• การบรรยายเพื่อค้นหาแนวทางในการสร้างสรรค์งาน ซึ่งเปิดกว้างให้ทั้งครูผู้สอนและนักเรียนระดับโต
รวมทั้งยังเปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจเข้าชมการบรรยายและพูดคุยเกี่ยวกับการพัฒนาการเต้น การสอน อาชีพในอนาคต และความพร้อมด้านร่างกายและจิตใจ ในหัวข้อ “Professional Talks and Discussion on Dance Teaching and Career” จำนวน 16 วิชา จากวิทยากร 8 ท่าน ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญและผู้มีชื่อเสียงระดับโลกจาก 3 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ และไทย ถ่ายทอดสดผ่านเฟซบุ๊กเพจ CSTD Thailand ที่จัดขึ้นในวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 โดยมีเยาวชนและผู้สนใจที่ให้การตอบรับเข้าร่วมโครงการเกินกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ ถือเป็นการช่วยเปิดโลกทัศน์ใหม่ที่ยิ่งกว้างไกลให้ผู้ที่มีใจรักในศิลปะการเต้น
การสัมมนานี้ช่วยยกระดับความสามารถให้แก่เยาวชนไทย ช่วยพัฒนาความสามารถด้านศิลปะการเต้น ซึ่งจะเป็นพื้นฐานเพื่อก้าวเข้าสู่เวทีการแข่งขันระดับนานาชาติ และพัฒนาต่อเนื่องจนถึงระดับอาชีพ ทั้งยังเป็นช่องทางเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมไทยในรูปแบบศิลปะการเต้นที่เป็นมาตรฐานสากลให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง ทำให้ประเทศไทยได้สร้างเครือข่ายเชื่อมโยงถึงกันทั่วทุกภูมิภาค นับเป็นการสร้างพลังแห่งซอฟต์พาวเวอร์ที่สามารถเข้าไปสัมผัสในทุกพรมแดนได้อย่างแท้จริง