จากเรื่องราวความบันเทิงในอดีตที่เกือบจะสูญหายไปกับกาลเวลา ละครหุ่นร่วมสมัย สินไซผจญมาร ได้ถูกหยิบยกมาแต่งเติมชีวิต ใส่ความร่วมสมัยและเพิ่มความเชื่อมโยงกับผู้คน ผ่านการปลุกปั้นของศิลปินอิสระผู้รักในละครหุ่น จนได้กลับมาต่อยอดความสนุกสนานอีกครั้งในตอนใหม่ เพื่อตอกย้ำว่า ศิลปวัฒนธรรมที่มีชีวิตย่อมตั้งอยู่บนพื้นฐานของการเปลี่ยนแปลง
“ละครหุ่นร่วมสมัย สินไซเดินดง (ภาคต่อ) ปี 2” โดย ปรีชา การุณ หรือ ครูเซียง ศิลปินอิสระผู้สร้างสรรค์หุ่นเชิดที่แสนมีเอกลักษณ์ เป็นโครงการต่อเนื่องที่สานต่อจุดมุ่งหมายเดิม คือ ส่งเสริมพื้นที่การเรียนรู้ด้านศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยให้แก่เด็กและเยาวชนในท้องถิ่นอีสานได้เข้าใจรากเหง้าและภูมิปัญญาทางศิลปวัฒนธรรม ผ่านกระบวนการสร้างสรรค์การแสดงละครหุ่นร่วมสมัย เพื่อบอกเล่า และสร้างความตระหนักรู้ด้านการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และสืบสานศิลปวัฒนธรรม โดยดำเนินงานผ่าน 3 กิจกรรมที่เต็มไปด้วยความสนุกสนานและน่าดึงดูดใจให้ร่วมเรียนรู้
กิจกรรมที่ 1 การอบรมเชิงปฏิบัติการสร้างสรรค์ผลงานละครหุ่นร่วมสมัย สินไซเดินดง ครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 23 – 25 เมษายน พ.ศ. 2564 เพื่อเรียนรู้วรรณกรรมเก่าแก่อันล้ำค่าของคนสองฝั่งโขงคือเรื่องสังข์ศิลป์ชัยหรือ “สินไซ” กับครูเซียง และศิลปินพื้นบ้าน พ่อครูสุรพงษ์ เผิ่งจันดา เด็ก ๆ ยังได้ฝึกทักษะการทำหุ่นละครตามบท ด้วยการนำวัสดุในท้องถิ่นมาสร้างสรรค์ผลงาน เกิดเป็นสื่อนวัตกรรมร่วมสมัยที่เป็นเครื่องมือสื่อสารกับคนที่อยู่ในชุมชนตนเอง เป็นการถ่ายทอดความรู้จากรุ่นพี่สู่รุ่นน้องของเด็ก ๆ ในคณะหมอลำหุ่น นอกจากจะได้ฝึกทักษะศิลปะการทำหุ่นแบบมีส่วนร่วมแล้ว ยังได้สวมวิญญาณนักวิทยาศาสตร์ ด้วยการฝึกเป็นนักสังเกต นักคิด และนักทดลอง เพื่อให้ได้หุ่นในรูปแบบใหม่ที่ไม่เหมือนใครกิจกรรมที่ 2 การอบรมเชิงปฏิบัติการการพัฒนาการแสดงละครหุ่นร่วมสมัย สินไซเดินดง ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 18 – 20 มิถุนายน พ.ศ. 2564 เด็ก ๆ ได้ผ่านกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน และกลั่นกรองตัวเองจนเกิดการสะสมประสบการณ์เชิงคุณภาพ ทั้งทักษะการเขียนบท ทักษะการทำหุ่น ทักษะการเชิดหุ่น ทักษะการพากย์ และการร้องกลอนลำ แม้ว่าแต่ละคนจะมีความพร้อมไม่เท่ากัน แต่การโอบอุ้มประคับประคองซึ่งกันและกันก็ได้นำพาพวกเขาไปสู่เป้าหมาย
กิจกรรมที่ 3 จากเดิมที่วางแผนการเผยแพร่แบบออฟไลน์ เพื่อให้ผู้ชมได้ร่วมสัมผัสตัวละครหุ่นที่สร้างสรรค์จากฝีมือเด็ก ๆ แต่ด้วยสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ทางโครงการจึงปรับรูปแบบการจัดกิจกรรม “ละครหุ่นร่วมสมัย สินไซเดินดง (ภาคต่อ) ปี 2” สู่สาธารณชนด้วยการเผยแพร่ผ่านสื่อออนไลน์ในระหว่างวันที่ 13 – 14 สิงหาคม พ.ศ. 2564 ได้รับความร่วมมือจากกลุ่มเครือข่ายที่ช่วยกันสร้างสรรค์ผลงานและบันทึกการแสดง จึงช่วยขยายขอบเขตของกลุ่มเป้าหมายให้กว้างยิ่งขึ้น
ในสังคมโลกที่มีลักษณะเป็นพลวัต มีการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ไม่ว่าจะด้านการเมืองการปกครอง เศรษฐกิจ ประชากร ระบบความคิด และศิลปวัฒนธรรมก็มีการถ่ายทอดและแลกเปลี่ยนเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา และอาจหายไปหากไม่ได้รับการพัฒนาต่อยอดให้เข้ากับสภาพสังคมในปัจจุบัน แต่ละครหุ่นร่วมสมัย สินไซเดินดง ได้กลับมาเพื่อสร้างความบันเทิงและเป็นตัวอย่างของเครื่องมือที่นำไปสู่การค้นหาแก่นแท้และคุณค่าของศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นที่จะนำมาเชื่อมโยงกับวิถีชีวิตปัจจุบัน และยังคงเปลี่ยนแปลงรูปแบบไปได้เสมอ ตราบเท่าที่ยังมีชีวิต