แรงบันดาลใจจากการตีความพื้นที่ร่วมกันระหว่างคนกับสัตว์ให้ออกมาในรูปแบบสถาปัตยกรรม จนเกิดเป็นผลงานพาวิลเลียน “บ้านช้างบ้านคน” ได้สะท้อนภาพการอยู่ร่วมกันโดยไม่แบ่งแยกของหมู่บ้านที่คนและช้างอยู่ร่วมชายคาเดียวกันได้อย่างลงตัว
สถาปัตยกรรม The Elephant “บ้านคน-บ้านช้าง” ออกแบบโดย บุญเสริม เปรมธาดา ศิลปินศิลปาธร สาขาสถาปัตยกรรม ประจำปี 2562 และสถาปนิกไทยเจ้าของรางวัลระดับโลก ที่ติดตั้ง ณ วัดป่าอาเจียง อําเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์ คือผลงานในโครงการ “นิทรรศการสถาปัตยกรรมนานาชาติ เวนิสเบียนนาเล่ ครั้งที่ 17” โดยสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นการนำบ้านของชาวกูย กลุ่มชาติพันธุ์ทางภาคตะวันออก-เฉียงเหนือของไทยที่ใช้ชีวิตใกล้ชิดกับช้างมายาวนานหลายร้อยปี และบ้านของช้างมาผสมกันเป็นโครงสร้างเดียวกัน ซึ่งโครงสร้างสถาปัตยกรรมแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่เป็นหลังคาทรงจั่วหลังเตี้ย (บ้านคน) และส่วนที่เป็นหลังคาเสาเดี่ยว (บ้านช้าง) สะท้อนภาพหมู่บ้านของชาวกูยที่มีสถาปัตยกรรมทั้ง 2 แบบกระจัดกระจายอยู่เต็มพื้นที่ สะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของทั้งสองฝ่ายที่พึ่งพาอาศัยกัน
ประเทศไทยได้รับโอกาสในการนําผลงานออกแบบสถาปัตยกรรมชิ้นนี้เข้าร่วมแสดงใน นิทรรศการสถาปัตยกรรมนานาชาติ เวนิสเบียนนาเล่ แต่เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ทําให้ท่าเรือระหว่างประเทศปิดทําการ ประกอบกับข้อจำกัดด้านการขนส่งอื่น ๆ คณะผู้จัดทำจึงจัดผลิตชิ้นงานขึ้นใหม่จากวัสดุท้องถิ่นภายในสาธารณรัฐอิตาลี และนำไปจัดแสดงในพาวิลเลียนไทย ภายในนิทรรศการสถาปัตยกรรมนานาชาติเวนิสเบียนนาเล่ ครั้งที่ 17 ณ อาร์เซนาเล่ เมืองเวนิส สาธารณรัฐอิตาลี ระหว่างวันที่ 22 พฤษภาคม – 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564 โดยมี อภิรดี เกษมศุข เป็นภัณฑารักษ์ ถ่ายทอดความสัมพันธ์ระหว่างการอยู่ร่วมกันของคนและช้างไทยผ่านแอปพลิเคชันซูม (Zoom) พร้อมถ่ายทอดสดผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจของสํานักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย
ผลงานชิ้นนี้ได้สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศ ด้วยการสะท้อนอัตลักษณ์ท้องถิ่นของคนและช้างที่อยู่ร่วมกันอย่างผูกพัน จนเป็นที่น่าสนใจของบรรดาเหล่าผู้เข้าชม โดยเว็บไซต์ dailyartmagazine.com ได้นำเสนอการจัดอันดับ 5 พาวิลเลียนที่น่าสนใจ และ “บ้านคน-บ้านช้าง” ก็ได้สร้างชื่อให้กับประเทศไทย โดยติดอันดับ 1 ใน 5 ของพาวิลเลียนที่น่าสนใจที่สุด
การนําผลงานการออกแบบสถาปัตยกรรมของไทยเข้าร่วมแสดงในงานนิทรรศการสถาปัตยกรรมนานาชาติเวนิสเบียนนาเล่ครั้งนี้ เป็นการนําเสนอผลงานสถาปัตยกรรมของไทยในเวทีระดับสากล เผยแพร่ชื่อเสียงของสถาปนิกไทยให้ยิ่งเป็นที่รู้จัก กระตุ้นให้เกิดการสร้างสรรค์งานด้านการออกแบบสถาปัตยกรรม และรูปแบบการนําเสนองาน เพื่อนํามาประยุกต์ใช้ในวงการสถาปัตยกรรมและอุตสาหกรรมก่อสร้างของไทยในอนาคต
“บ้านคน-บ้านช้าง” ไม่เพียงทำให้ผู้เข้าร่วมแสดงผลงาน นักท่องเที่ยว ผู้ชมงานศิลปะอีกหลายแสนคน ได้เห็นความงดงามของวัฒนธรรมไทย ลดภาพจำการใช้แรงงานช้างหรือนำช้างไปเร่ร่อนในเมือง สะท้อนการอยู่ร่วมกันของสังคมคนเลี้ยงช้าง แต่ยังสื่อสารให้โลกรับรู้จิตวิญญาณการอยู่ร่วมกันโดยไม่แบ่งแยก ทั้งคน สัตว์ สิ่งแวดล้อม เนื้อหาที่ร้อยเรียงบอกเล่าผ่านนิทรรศการแสดงให้เห็นถึงจิตวิญญาณการอยู่ร่วมกันระหว่างคนและช้าง พร้อมชวนให้ผู้คนกลับมาทบทวนว่า “How will we live together?” (เราจะอยู่ร่วมกันอย่างไร?) ซึ่งเป็นหัวข้อของการจัดงานนิทรรศการในครั้งนี้