การแสดงนาฏศิลป์ชุด “สยาม” ตัวอย่างการศึกษาประวัติศาสตร์ไทยเพื่อการต่อยอดศิลปะร่วมสมัย ที่ผู้จัดทําได้รวบรวมความเป็นมาจากประวัติศาสตร์ ตั้งแต่สมัยสุโขทัยจนถึงปัจจุบัน นําประวัติการแสดง ดนตรี รวมถึงเครื่องแต่งกายของแต่ละสมัยมาศึกษาใหม่อย่างละเอียด และใส่ความเป็นปัจจุบันลงไป เพื่อให้เกิดการแสดงชุดใหม่ที่เป็นศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยอันน่าตื่นตา
นงลักษณ์ คชาธาร ผู้ขับเคลื่อน “โครงการนาฏศิลป์ร่วมสมัย ชุด สยาม” ใช้เวลาในช่วงเดือนมกราคม – สิงหาคม พ.ศ. 2564 เพื่อสัมภาษณ์ที่มาของการแสดงโบราณคดีจากผู้เชี่ยวชาญทางดนตรี นาฏศิลป์ และการแสดง จากนั้นจึงวางแผนรูปแบบเวที สร้างสรรค์ทำนองดนตรี รวมทั้งออกแบบเครื่องแต่งกายจากการศึกษาระบำโบราณคดี ฝึกซ้อม และถ่ายทำวิดีโอเพื่อเผยแพร่การแสดงนาฏศิลป์ร่วมสมัย ชุด สยาม ในรูปแบบสื่อการเรียนการสอนวิชาดนตรี – นาฏศิลป์ในและนอกสถานศึกษา
ภายในวิดีโอเผยให้เห็นความงดงามของท่ารำของการแสดงชุดโบราณคดีทั้ง 5 สมัย ได้แก่ ระบำทวารวดี ระบำศรีวิชัย ระบำลพบุรี ระบำเชียงแสน และระบำสุโขทัย มีการนำศิลปะด้านแสง สี เสียงมาใช้ในการแสดง และดำเนินเรื่องราวไปตามลำดับ ผู้แสดงรับบทเป็นผู้ถ่ายทอดเรื่องราวความรุ่งเรืองของไทยในแต่ละยุคผ่านกระบวนท่ารำนาฏศิลป์ไทยที่สร้างสรรค์ให้เข้ากับบทเพลงสมัยใหม่ โดยใช้การบรรเลงทำนองดนตรีไทยและดนตรีสากล สื่อการสอนชิ้นนี้จึงไม่เพียงแต่ให้ความรู้ แต่ยังทำหน้าที่เป็นสื่อบันเทิงอีกชิ้นหนึ่งได้อย่างสมบูรณ์สวยงาม
ปัจจุบันรูปแบบความบันเทิงและแนวทางการเรียนรู้ในสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ทําให้เด็กรุ่นใหม่สนใจนาฏศิลป์ไทยน้อยลง นาฏศิลป์ร่วมสมัย ชุด สยาม คือตัวอย่างหนึ่งของ “สื่อ” ที่ยังคงไว้ซึ่งในรากฐานเดิม แต่ผ่านการปรับปรุง และสอดแทรกสิ่งใหม่ให้เข้ากับยุคสมัย ดึงดูดใจเยาวชนรุ่นใหม่ให้หันมาสนใจในด้านนาฏศิลป์ไทยมากขึ้น เพื่อทำให้เกิดความรักชาติและซาบซึ้งในความเป็นไทย รวมถึงเกิดกระบวนการเรียนรู้และสืบทอดศิลปวัฒนธรรมไทยต่อไป