เยาวชนไทยจำนวนไม่น้อยหลงใหลศาสตร์แห่งการสร้างภาพเคลื่อนไหวอย่าง “แอนิเมชัน” เห็นได้จากผลงานแอนิเมชันจำนวนมากที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นวิทยานิพนธ์ในการจบการศึกษาในสาขาที่เกี่ยวข้องกับแอนิเมชันในเมืองไทย ซึ่งเปิดสอนอยู่มากกว่า 33 มหาวิทยาลัยจากทั่วประเทศ หลายผลงานสะท้อนมุมมองที่น่าสนใจของผู้สร้าง มีอัตลักษณ์เฉพาะตัวที่โดดเด่น แต่น่าเสียดายที่ภาพเคลื่อนไหวเหล่านั้นส่วนใหญ่มักจบลงเพียงแค่การแสดงงานเล็ก ๆ ที่นักศึกษาจัดกันเอง ไม่มีโอกาสที่จะเผยแพร่ออกไปสู่สายตาสาธารณชน ทำให้แทบไม่ได้รับการมองเห็นจากบริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรมแอนิเมชัน
ด้วยการมองเห็นจุดเล็ก ๆ ที่จะกลายเป็นจุดเปลี่ยนอันยิ่งใหญ่ที่จะทำให้แอนิเมชันไทยจะไปเติบโตในตลาดโลก โครงการ “เทศกาลภาพยนตร์แอนิเมชันอิสระเพื่อนักแอนิเมชันไทย ครั้งที่ 6” (Thailand Animator Festival 6 : TAF 6) จึงเกิดขึ้นจากการริเริ่มของ รัฐ จำปามูล โครงการนี้มีจุดประสงค์เพื่อประกวดและจัดฉายผลงานแอนิเมชันที่เปิดกว้างให้โอกาสกับทุกคน เปิดรับผลงานแอนิเมชันจากทั่วประเทศ โดยไม่จำกัดหัวข้อ ความยาว หรือเทคนิค โดยเน้นการประชาสัมพันธ์ไปยังสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ เพื่อเป็นเวทีแจ้งเกิดให้นักแอนิเมชันรุ่นใหม่ที่กำลังจะจบการศึกษาและก้าวเข้าสู่การทำงาน ได้มีโอกาสแสดงความสามารถ และได้รับโอกาสที่ดีในอุตสาหกรรมแอนิเมชันไทย
“เทศกาลภาพยนตร์แอนิเมชันอิสระเพื่อนักแอนิเมชันไทย ครั้งที่ 6” (Thailand Animator Festival 6 : TAF 6) ได้เปิดรับผลงานแอนิเมชันขนาดสั้น จากนักเรียน นักศึกษา และบุคคลทั่วไป โดยการประชาสัมพันธ์โครงการ การคัดเลือกผลงาน การตัดสินผลงาน การมอบรางวัล และการเผยแพร่ผลงานผ่านสื่อประชาสัมพันธ์แบบออนไลน์ ดำเนินการในระหว่างวันที่ 1 มกราคม – 15 สิงหาคม พ.ศ. 2564 และในปีนี้ยังมีผลงานจากต่างประเทศที่ส่งเข้าร่วมประกวด แสดงถึงการรับรู้และให้ความสนใจต่อเทศกาลและผลงานแอนิเมชันของเยาวชนไทยจากชาวต่างชาติ
เป็นครั้งแรกที่ Thailand Animator Festival ได้จัดในรูปแบบออนไลน์ทั้งหมด เพื่อรองรับกับสถานการณ์โรคระบาดในปัจจุบัน ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่ช่วยเพิ่มโอกาสและความเสมอภาคในการเข้าถึงเทศกาลได้มากกว่าเดิม
ขั้นตอนการผลิตแอนิเมชันที่เต็มไปด้วยกระบวนการทางศิลปะ อาศัยหลักการทางทัศนศิลป์ องค์ประกอบศิลป์ ประกอบกับความสามารถด้านคอมพิวเตอร์และความคิดสร้างสรรค์ จึงทำให้ผลงานที่ได้รับการคัดเลือกทั้ง 10 ผลงาน นอกจากจะได้จัดฉายแบบออนไลน์ทางกลุ่มเฟซบุ๊ก (Facebook Group) ที่ชื่อว่า TAF6 : Festival From Home แล้ว ยังได้รับการทาบทามเข้าสู่อุตสาหกรรมแอนิเมชัน เพื่อเป็นการผลักดันให้เยาวชนได้มีโอกาสทำงานที่พวกเขารักอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต
จากแอนิเมชันที่เคยมีผู้ชมกลุ่มเล็ก ๆ เป็นนักศึกษาด้วยกันเอง ได้มีโอกาสไปโลดแล่นในอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ทั้งหมดเกิดจากความมุ่งมั่นของผู้ริเริ่มโครงการ ซึ่งยึดมั่นในแนวคิดที่ว่า “การเห็นคุณค่าในผลงานตัวเองเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างสรรค์เพื่อผู้อื่น และการทำให้นักสร้างสรรค์แอนิเมชันที่มีทักษะโดดเด่นและมีความสามารถในการเล่าเรื่องได้รับโอกาสในอุตสาหกรรม คือการพัฒนาบุคลากรที่ทั้งเติมเต็มปากท้อง และเติมเต็มจิตใจที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง”