ประสบการณ์ใหม่ในการจัดนิทรรศการศิลปะร่วมสมัยของวงการศิลปะในประเทศไทยที่เข้าถึงง่าย ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนหรือในช่วงเวลาใดก็สามารถร่วมรับชมได้ จัดทำโดยกลุ่มมีกิม สตูดิโอ ในเครือข่ายบริษัท มีกิม โปรดักชั่น จํากัด ผู้ผลิตสื่อออนไลน์
กลุ่มมีกิม สตูดิโอได้สร้างสื่อใหม่ที่นําผลงานศิลปะ ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ ชุมชนและวิถีชีวิตไทย มาอยู่ในรูปแบบแอปพลิเคชัน แม้สองเท้าจะไม่ได้ออกเดินทาง แต่ผู้รับชมนิทรรศการ
ก็จะได้ท่องเที่ยวไปตามแลนด์มาร์กของพระนครได้ทั่วทุกมุม
กลุ่มมีกิม สตูดิโอเริ่มจากโครงการรักษ์คูคลองเมืองเดิมเฉลิมพระเกียรติ ซึ่งมีการจัดทําแอปพลิเคชันและเว็บไซต์รวบรวมสถานที่ท่องเที่ยว ส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมและเศรษฐกิจบริเวณรอบคูคลองเมืองเดิม ใจกลางกรุงเทพมหานคร ต่อยอดสู่ “โครงการศิลปะร่วมสมัยสร้างสรรค์แลนด์มาร์กใหม่ให้หัวใจพระนคร” โดยได้จัดทํานิทรรศการในบริเวณคูคลองเมืองเดิมทั้ง 5 แห่ง ได้แก่ คลองคูเมืองเดิม คลองหลอดวัดราชนัดดา คลองหลอดวัดราชบพิธ คลองโอ่งอ่าง และคลองผดุงกรุงเกษม ซึ่งเป็นคูคลองรอบกรุงที่ล้อมรอบไปด้วยสถาปัตยกรรมอันงดงาม และทำหน้าที่หล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนในย่านนั้น
มีการคัดเลือกศิลปินรุ่นใหม่จำนวน 10 คน จากหลากหลายแขนง เพื่อลงพื้นที่ชุมชนบริเวณรอบคูคลองเมืองเดิม และสร้างสรรค์ผลงานศิลปะกว่า 100 ชิ้น ออกแบบให้ร้านค้าร้านอาหารแต่ละร้านมีจุดเด่นที่น่าสนใจเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และร่วมกันสร้างการท่องเที่ยวที่มีเอกลักษณ์และอัตลักษณ์เฉพาะตัว รวมทั้งงานออกแบบประเภทกราฟิก บรรจุภัณฑ์ และของที่ระลึกที่สอดคล้องกับพื้นที่ในชุมชน ทำให้พื้นที่ในชุมชนกลายเป็นแลนด์มาร์กใหม่ โดยมีการถ่ายเรียลิตี้เพื่อให้ผู้สนใจได้ร่วมชมขั้นตอนการสร้างสรรค์ผลงาน และจัดนิทรรศการ ART CREATE PHRANAKHON เมื่อวันที่ 4 – 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 ณ หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน ภายในงานมี QR code ให้สแกนผ่านแอปพลิเคชัน UNITE AR ทำให้ผู้เข้าชมได้สัมผัสบรรยากาศเสมือนอยู่ในสถานที่จริง
แลนด์มาร์กแห่งใหม่บนเกาะรัตนโกสินทร์กับการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะที่สอดคล้องกับวิถีชุมชน นอกจากจะช่วยพัฒนาแหล่งท่องเที่ยววัฒนธรรมใหม่ ๆ ดึงดูดทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติให้มาเยือนแล้ว การนําความสามารถด้านศิลปะบวกกับความสามารถด้านเทคโนโลยียังช่วยพัฒนางานศิลปะในรูปแบบใหม่ ซึ่งจะนำความเปลี่ยนแปลงมาสู่ชุมชน เกิดการเห็นคุณค่าของการพัฒนาชุมชนโดยคนรุ่นใหม่ เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างการพัฒนาชุมชนและสังคมโดยศิลปะร่วมสมัยที่ช่วยฟื้นฟู สร้างการรับรู้ และพัฒนาชุมชนให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง