ท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล ทำให้การผลิตสื่อสิ่งพิมพ์ในรูปแบบการพิมพ์ทยอยปิดตัว ขณะที่วรรณกรรมออนไลน์กลับเพิ่มจำนวนขึ้น กลายเป็นพื้นที่ให้นักเขียนได้สร้างสรรค์ผลงานอย่างอิสระ ทั้งด้านรูปแบบและเนื้อหา จนเกิดนักเขียนหน้าใหม่ฝีมือดีเพิ่มขึ้นมากมาย
แต่ในทางกลับกัน จำนวนนักวิจารณ์วรรณกรรมกลับลดลง การเกิดขึ้นของงานวิจารณ์วรรณกรรมชิ้นใหม่ ๆ จึงน้อยลงตามไปด้วย
นี่จึงเป็นที่มาของการจัดโครงการพัฒนาสื่อออนไลน์เพื่อการวิจารณ์วรรณกรรมร่วมสมัยขึ้น โครงการนี้ได้เริ่มดำเนินการในปี พ.ศ. 2561 โดย ชมัยภร บางคมบาง ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ ผู้มีอีกบทบาทหนึ่งในฐานะนักวิจารณ์วรรณกรรม นามปากกา “ไพลิน รุ้งรัตน์”มีการเปิดเว็บไซต์สำหรับเผยแพร่ผลงานวิจารณ์วรรณกรรม และคัดเลือกบทวิจารณ์รับเชิญจากนักวิจารณ์มืออาชีพ ตลอดจนเปิดรับบทวิจารณ์จากผู้สนใจเข้ารับการพิจารณา มีผลงานคุณภาพที่ผ่านการคัดเลือกและลงเผยแพร่ในเว็บไซต์อย่างต่อเนื่อง นักวิจารณ์หน้าใหม่จึงค่อย ๆ เกิดขึ้น
ในขณะเดียวกันก็มีผู้อ่านหน้าใหม่เข้ามาติดตามบทวิจารณ์วรรณกรรมเช่นกัน จึงเกิดโครงการต่อเนื่องในปี 2564 ภายใต้ชื่อโครงการ “สร้างเสริมเครือข่ายนักวิจารณ์วรรณกรรมรุ่นใหม่ : อ่าน – คิด – วิจารณ์ สร้างภูมิคุ้มกันแก่สังคมไทย” เพื่อกระตุ้นวัฒนธรรมการวิจารณ์ในสังคมไทย เน้นกลุ่มเป้าหมายเป็นเด็กและเยาวชนรุ่นใหม่ โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.สรณัฐ ไตลังคะ อดีตนายกสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นผู้รับผิดชอบโครงการ
ทางโครงการเริ่มประสานงานกับสถาบันการศึกษาที่สนใจร่วมเป็นเครือข่ายสร้างนักวิจารณ์วรรณกรรมรุ่นใหม่ และเปิดรับสมัครการประกวดผลงานวิจารณ์วรรณกรรมดีเด่น ในระหว่างวันที่ 18 มกราคม – 31 มีนาคม พ.ศ. 2564 จากนั้นจึงจัดกิจกรรมถ่ายทอดสดแลกเปลี่ยนเรียนรู้ “อ่าน–คิด–วิจารณ์” จำนวน 3 ครั้ง เมื่อวันที่ 6, 13 และ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 ผ่านเพจเฟซบุ๊ก ดวงใจวิจารณ์
หลังกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้จบลง เหล่านักวิจารณ์รุ่นใหม่ก็ทยอยส่งผลงานวิจารณ์เข้าร่วมประกวดกว่า 97 ชิ้นงาน ทางโครงการได้คัดสรรและตัดสินผลงานที่ส่งเข้าประกวด มีผลงานวิจารณ์ 42 ชิ้น ที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านช่องทางออนไลน์ และได้รับการตีพิมพ์เป็นหนังสือรวมผลงานวิจารณ์จำนวน 300 เล่ม จากนั้นจึงประกาศผลการตัดสินและมอบรางวัลแก่งานวิจารณ์ดีเด่นผ่านออนไลน์
โดยผลการตัดสินบทวิจารณ์วรรณกรรมร่วมสมัยดีเด่น ระดับมัธยมศึกษา จำนวน 5 รางวัล ได้แก่
• ในกับดักและกลางวงล้อม : ทุกคนต่างมีวงล้อม โดย วริศรา ศิริโรจนนานนท์
• ภาพสะท้อนอำนาจในสิงโตนอกคอก โดย โชติกา แอนโก
• หลงทางกลางปุยเมฆ : สักวันเมฆฝนก็จะจางหายไป โดย ภัทราพร ดอกจันทร์
• ภาพแทนชนชั้นกลาง ภายใต้การต่อสู้ 2 เสื้อสี 2 ชนชั้น ใน “พรหมลิขิต” โดย ธรรมจุติ เที่ยงธรรม
• ทุกขณะกระจ่างชัดสัมผัสใจ : เมื่อคนตาบอดมองเห็นในสิ่งที่คนตาดีมอง (ไม่) เห็น โดย เพชรอมร กันหารินทร์
และผลการตัดสินบทวิจารณ์วรรณกรรมร่วมสมัยดีเด่น ระดับอุดมศึกษา จำนวน 5 รางวัล ได้แก่
• อีกไม่นานเราจะสูญหาย : ระบบทุนนิยมกับการสูญสลายตัวตนของมนุษย์ โดย ชวิศา อามาตร
• ทะเลสาบน้ำตา : โชคชะตาของเด็กผู้ไร้เดียงสา โดย จักรพงศ์ อินทรศรี
• โครงกระดูกแม่มด สุขฆาตกรรมแห่งความรัก : หญิงสาวผู้เป็นตัวเอกของเรื่องราวชีวิตคู่ โดย ณัฐพร พิชัยศรแผลง
• Hi! So-cial ไฮโซ…เชียล : บนพื้นที่ “โลกออนไลน์” มุ่งขับเคี่ยวบางความหมาย “โลกออนไซต์” โดย อภิชัย อุทัยแสง
• นัยเรื่องเล่าของเหล่าสัตว์ : ส่องภาพทับซ้อนวิถีแห่งมนุษย์ บทวิจารณ์รวมเรื่องสั้นคืนปีเสือและเรื่องเล่าของสัตว์อื่น ๆ โดย วรโชติ ต๊ะนา
โครงการนี้ได้เปิดพื้นที่ให้เกิดนักวิจารณ์วรรณกรรมหน้าใหม่ได้มีช่องทางในการเผยแพร่ผลงานวิจารณ์ของตนเอง พัฒนาทักษะการอ่าน คิด วิเคราะห์ วิจารณ์ในเด็กและเยาวชน เป็นการสนับสนุนการแสดงความคิดเห็นด้วยหลักเหตุผล นำไปสู่การสดงความคิดเห็นเชิงสร้างสรรค์ ยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่างโดยปราศจากอคติและอารมณ์ และเปิดโอกาสให้ผู้อ่านและผู้สนใจสามารถเข้าถึงผลงานวิจารณ์ได้ง่ายขึ้น
การเปิดพื้นที่ใหม่ในการวิจารณ์วรรณกรรม จึงเปรียบเสมือนได้เปิดบ้านต้อนรับการเปลี่ยนเส้นทางของวรรณกรรมร่วมสมัยที่มุ่งเน้นไปทางแพลตฟอร์มออนไลน์ ซึ่งเพิ่มจำนวนมากขึ้นในระยะเวลาอันสั้น และเพื่อไม่ให้วรรณกรรมเติบโตอย่างโดดเดี่ยว การวิจารณ์จึงควรที่จะเติบโตไปเคียงข้าง คอยเป็นเพื่อนคู่คิดให้แก่กันและกัน