หากเอ่ยถึงคนวัย “60” อาจเป็นเลขอายุที่ถึงจุดสิ้นกำหนดเวลาการทำงานของบางองค์กร แต่สำหรับบางคน 60 ปี คือวัยที่มีเวลามากขึ้นในการได้สานต่องานในฝัน
“วัยเกษียณ…เขียนสร้างงาน” โดย นฤเบศ สมฤทธิ์ โครงการที่เปิดโอกาสและส่งเสริมให้ผู้สูงอายุได้ใช้เวลาหลังเกษียณเพิ่มทักษะการเขียนและสร้างสรรค์งานวรรณศิลป์ โดยมีการจัดกิจกรรมถ่ายทอดองค์ความรู้ และเสวนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างนักเขียนกับผู้สูงอายุ โครงการนี้มีผู้สูงอายุที่มีอายุระหว่าง 55 – 75 ปี ร่วมสมัครจำนวนทั้งหมด 105 คน และมีผู้ผ่านเกณฑ์ได้รับการคัดเลือกจำนวน 22 คน
ผู้เข้าอบรมทุกคนได้เรียนรู้การเขียนโครงเรื่อง ย่อเรื่อง ความเรียง และสารคดี ตลอดจนได้รับฝึกฝนการใช้ภาษา สร้างงานเขียน และนำเสนอผลงานจากวิทยากรหลากหลายสาขา ได้แก่ อรสม สุทธิสาคร ศิลปินศิลปาธร สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี พ.ศ. 2552 สรรัตน์ จิรบวรวิสุทธิ์ หรือครูกอล์ฟ ผู้เขียนบทละครโทรทัศน์ คอลัมนิสต์ และนักเขียน รวมทั้งได้สัมผัสประสบการณ์ตรงจากนักเขียนนิยายและนักเขียนพล็อตละคร 2 ท่าน คือ ชยุต รัตนกรี และสกลณัฏฐ์ เจริญวราวุฒิ อีกทั้งยังมีวิทยากรจากมูลนิธิ peaceful death ได้แก่ ชุุติมา เรืองแก้วมณี และปิญชาดา ผ่องนพคุณ โดยดำเนินการในช่วงระหว่างมีนาคม – พฤษภาคม พ.ศ. 2564 ณ หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน กรุงเทพมหานคร
“จากหัวใจที่ยังไม่เกษียณ” หนังสือรวบรวมผลงานเขียนของเหล่าผู้สูงอายุที่ไม่ยอมปล่อยให้วัย 60 มาหยุดพลังความคิดสร้างสรรค์ และเปิดโอกาสให้วรรณศิลป์ได้เข้ามาช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต เติมเต็มวัย 60 ให้ยิ่งมีความหมาย
ผลงานทุกชิ้นยังมีการเผยแพร่ผ่านเพจเฟซบุ๊ก “วัยเกษียณเขียนสร้างงาน” เพื่อเผยแพร่ให้ผู้ที่สนใจร่วมเดินทางไปกับประสบการณ์ชีวิตกว่า 20,000 วันอันมีค่าของเหล่าผู้สูงอายุ ที่จะช่วยเพิ่มมุมมอง ส่งต่อภูมิปัญญา และพาทุกคนย้อนกลับไปสำรวจภายในจิตใจของตนเอง
ท่ามกลางการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบในเมืองไทย วรรณศิลป์ได้เข้ามาเป็นจุดเปลี่ยนของชีวิตในวัย 60 ไม่เพียงแต่เป็นหนึ่งในวิถีการเขียนบำบัด แต่ยังสร้างงาน สร้างรายได้ ที่สำคัญมีผลทางใจให้ผู้สูงอายุได้รู้สึกถึงคุณค่าของตนเอง