“มอญซ่อนผ้า ตุ๊กตาอยู่ข้างหลัง ใครเผลอไม่คอยระวัง ตุ๊กตาอยู่ข้างหลังระวังจะถูกตี”
เสียงเพลงมอญซ่อนผ้าที่แว่วมาเข้าหู เนื้อร้องที่แตกต่างกันไปตามแต่ละท้องถิ่น อาจทำให้ใครหลายคนย้อนนึกถึงวันวานที่แสนสนุกสนาน
แต่ความสนุกสนานเหล่านั้นจะไม่เป็นเพียงอดีตอีกต่อไป เมื่อ ประทวน วันนิจ และคณะ มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ ได้ริเริ่ม “โครงการส่งเสริม สร้างสรรค์ สืบสาน อนุรักษ์ ภูมิปัญญาการละเล่นพื้นบ้านอีสานผ่านเกมออนไลน์ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย เพื่อเสริมสร้างคุณค่าและจิตสำนึกรักษ์ท้องถิ่น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ”
เริ่มจากการลงพื้นที่เก็บรวบรวมข้อมูลการละเล่นพื้นบ้านอีสาน จำนวน 6 จังหวัด ได้แก่ การละเล่นโยนเม็ดซีบ้า (สะบ้า) จังหวัดบุรีรัมย์ การละเล่นมอญซ่อนผ้า จังหวัดอุบลราชธานี การละเล่นนางสุ่ม จังหวัดศรีสะเกษ การละเล่นตะเนิมโปงกะแอก จังหวัดสุรินทร์ การละเล่นงูกินหาง จังหวัดชัยภูมิ และการละเล่นตำข้าวเป่าแคน จังหวัดนครราชสีมา จากนั้นนำข้อมูลที่ได้มาค้นหาอัตลักษณ์ แล้วจึงจัดทำกระดานเรื่องราว (story board) เพื่อสร้างเกมการละเล่นพื้นบ้านอีสาน โดยมีการละเล่นมอญซ่อนผ้า เป็นเกมนำร่อง
นับเป็นการผสานภูมิปัญญาเข้ากับเทคโนโลยีที่ช่วยเสริมสร้างองค์ความรู้ผ่านกิจกรรม หรือกระบวนการที่ใช้พื้นฐานทางด้านศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยมาต่อยอดร่วมกับความคิดสร้างสรรค์ ที่นอกจากจะได้สืบสานภูมิปัญญาการละเล่นพื้นบ้านผ่านเกมออนไลน์แล้ว เมื่อนำเกมเข้าสู่กระบวนการจัดการเรียนการสอนยังช่วยสร้างความสนุกสนาน สามัคคี ส่งผลดีต่อประสิทธิผลในการเรียน เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยที่เสริมสร้างคุณค่าและจิตสำนึกรักษ์ท้องถิ่น ที่สำคัญยังเปลี่ยนความสนุกในวันวานที่เคยเป็นอดีตให้กลับมามีชีวิตโลดแล่นในยุคปัจจุบันอีกครั้ง