หนึ่งในคลื่นลูกใหญ่ที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงวงการศิลปะและประวัติศาสตร์ศิลปะของประเทศไทย คือการจัดตั้งภาควิชาศิลปไทย คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เมื่อปี พ.ศ. 2519 พลังงานจากคลื่นลูกนั้นได้สร้างสรรค์ก่อเกิดเป็นศิลปินและบุคลากรด้านศิลปะไทยจำนวนมากนับแต่นั้นเป็นต้นมา
เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ และปัญญา วิจินธนสาร นักศึกษาภาควิชาศิลปไทยรุ่น 2 ผู้นำแนวคิดจากคติความเชื่อทางพุทธศาสนามาตีความและนำเสนอในรูปแบบจิตรกรรมที่น่าตื่นตาบนผนังวัดพุทธปทีป ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เมื่อปี พ.ศ. 2527 โดยทำงานร่วมกับศิลปินอีก 29 ท่าน เมื่อกลับมาประเทศไทยจึงรวมตัวกันจัดนิทรรศการ “4 จิตรกรไทย” เมื่อสมาชิกเพิ่มขึ้นจึงเปลี่ยนชื่อกลุ่มเป็น “จิตรกรไทย” ดำเนินงานโดยใช้ศิลปะเป็นสื่อในการนำเสนอเรื่องราวและสะท้อนความเป็นไปของสังคมไทยในแง่มุมต่าง ๆ กระตุ้นให้เห็นคุณค่าและความสำคัญของศิลปะที่มีต่อชีวิต นับเป็นการเคลื่อนไหวครั้งสำคัญของวงการศิลปะไทยร่วมสมัย
ความสัมพันธ์ที่ต่อเนื่อง เชื่อมโยง การสืบทอดเจตจำนงทางศิลปะที่ได้รับความร่วมมือและบูรณาการจากหลายภาคส่วน นับตั้งแต่เปิดภาควิชาศิลปไทยของมหาวิทยาลัยศิลปากร การเกิดขึ้นของกลุ่มจิตรกรไทย และโครงการต่าง ๆ ที่มีการจัดกิจกรรมและเผยแพร่เป็นระยะเวลากว่า 2 ทศวรรษ แสดงให้เห็นถึงทิศทางในการสืบทอดศิลปะและการพัฒนาสู่ศิลปะไทยร่วมสมัยที่ศิลปินได้รับการปลูกฝังหยั่งรากอย่างมั่นคง และควรค่าที่จะนำมาเผยแพร่ให้บุคคลทั่วไป รวมถึงศิลปินรุ่นใหม่ ๆ ได้เรียนรู้เกี่ยวกับความเป็นมาและพัฒนาการของศิลปะไทย
โครงการ “นิทรรศการ 2 ทศวรรษกลุ่มจิตรกรไทย” โดยกลุ่มจิตรกรไทย จึงเกิดขึ้น ณ หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ระหว่างวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2563 – 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 ผลงานจำนวน 260 ชิ้น ที่จัดแสดงในนิทรรศการเป็นผลงานของศิลปินกลุ่มจิตรกรไทย ศิลปินรับเชิญ และศิลปินรุ่นใหม่ รวมทั้งสิ้น 77 ท่าน บางผลงานหาชมได้ยาก มีอายุมากกว่า 40 ปี ซึ่งไม่บ่อยนักที่จะนำมาจัดแสดง และยังมีการเคลื่อนย้ายผลงานบางส่วนไปจัดแสดงที่ “นิทรรศการสัญจร ณ หอศิลป์ริมน่าน” จังหวัดน่าน ระหว่างวันที่ 18 มีนาคม – 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2564
นอกจากนี้ยังมีการวิเคราะห์สืบค้นความเป็นมาของพัฒนาการศิลปะร่วมสมัยของไทยรวบรวมไว้เป็นบทเรียน และจัดเสวนาหัวข้อ “พัฒนาการศิลปะไทย” ในวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2563ความสำเร็จทั้งเส้นทางของการรักษาศิลปะตามอย่างไทย และเส้นทางการพัฒนาต่อยอดมุ่งสู่สากลของ “กลุ่มจิตรกรไทย” สะท้อนให้เห็นว่าพลังงานความเปลี่ยนแปลงจากคลื่นลูกใหญ่นั้นยังคงซัดเข้าฝั่งตลอดเวลา แม้กาลเวลาจะผ่านมากกว่า 2 ทศวรรษ มิหนำซ้ำกำลังคลื่นกลับยิ่งแข็งแกร่งและพร้อมจะบันดาลใจให้เกิดคลื่นลูกใหม่อยู่เสมอ