จากฝีมือสร้างสรรค์ของคนในท้องถิ่นหลากหลายชาติพันธุ์ ถ่ายทอดคำขวัญประจำจังหวัดออกมาเป็นสตรีตอาร์ต (Street Art) บนแผ่นสังกะสี ผลงานศิลปะเคลื่อนที่ชิ้นนี้ได้สะท้อนจุดเด่นในการเป็นจุดเชื่อมต่อของอารยธรรมขอมโบราณ รวมทั้งการดำเนินชีวิตที่มีอัตลักษณ์ของชาวจังหวัดสุรินทร์
กลุ่มศิลปกรรมสุรินทร์ ร่วมกับนักเรียน เยาวชน และประชาชนในพื้นที่ ผู้นำขนบธรรมเนียมประเพณี สภาพแวดล้อมร่วมกันสร้างสรรค์งานศิลปะ นำทุนทางวัฒนธรรมของท้องถิ่นมาทำให้พื้นที่มีเอกลักษณ์เป็นที่รู้จักแพร่หลาย ภายใต้โครงการ “สร้างสรรค์งานศิลป์ สุรินทร์ถิ่นศิลปะ” และการอบรมเชิงปฏิบัติการสร้างสรรค์งานศิลป์แปลงถิ่น Street Art “สร้างศิลป์สังกะสี” ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 12 – 13 มีนาคม พ.ศ. 2564 ณ วัดปาอาเจียง อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์ ด้วยการวาดคำขวัญประจำจังหวัดบนแผ่นสังกะสี 6 ชุด ขนาดสูง 1.80 เมตร และยาว 3 เมตร จำนวน 6 ชิ้นงาน
ไม่เพียงแผ่นสังกะสีจะทำหน้าที่เป็นผ้าใบเพื่อให้พู่กันได้วาดภาพสวยงาม แต่พื้นถนนเส้นทางเดิน ณ สวนรักปาร์ค สวนสาธารณะในอำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ ก็มีภาพเอกลักษณ์ของจังหวัดแต่งแต้มอยู่เช่นกัน ผ่านกิจกรรม Street Art “อาร์ตเลน” เพื่อให้เป็นเส้นทางสำหรับช้างเดินในทุกวันเสาร์ที่มีการตักบาตรบนหลังช้าง ระยะทางประมาณ 500 เมตร
อีกทั้งยังมีการนำผลงานที่ได้ไปจัดแสดงในงานสืบสานงานบุญ “วันช้างไทย จังหวัดสุรินทร์” และโครงการ “วิถีชุมชน คนรักษ์ช้าง สร้างชื่อไทย” ในวันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2564 ณ ชุมชนคุณธรรมต้นแบบบ้านหนองบัว ตำบลกระโพ อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์
อีกไม่กี่เดือนถัดมา กิจกรรมสร้างสรรค์งานศิลป์ ปริศนาธรรม โดยจัดทำสตรีตอาร์ตในรูปแบบปริศนาธรรมก็ได้โลดแล่นอยู่บนกำแพงด้านนอกของวัดป่าโยธาประสิทธิ์ ตำบลนอกเมือง อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ ติดกับตลาดน้ำราชมงคล เป็นที่น่าสนใจของผู้ที่เดินจับจ่ายซื้อของ และชวนให้ขบคิดทำความเข้าใจ
การดำเนินโครงการนี้เป็นการเสริมสร้างอัตลักษณ์ด้านศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยกับประชาชนในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ ผ่านการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย เพื่อนำศิลปะไปส่งเสริมชุมชน แต้มสีสันและถ่ายทอดสังคมพหุวัฒนธรรมของสุรินทร์ผ่านสตรีตอาร์ต ซึ่งจะช่วยแปลงถิ่นสุรินทร์ให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่เต็มไปด้วยชีวิตชีวา และมากด้วยต้นทุนทางวัฒนธรรม รวมทั้งช่วยสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจของการท่องเที่ยวให้แก่จังหวัด