ศาลายา ชุมชนเก่าแก่ที่ดึงดูดผู้คนให้เข้ามาตั้งรกรากและสร้างเนื้อสร้างตัว ด้วยเส้นทางคมนาคมทั้งทางน้ำและทางบกที่เชื่อมโยงกับชุมชนรอบนอก จนกระทั่งค่อย ๆ กลายเป็นชุมชนใหม่ที่มีมหาวิทยาลัยเป็นศูนย์กลาง เป็นพื้นที่รองรับการกระจายตัวของเมือง ขณะเดียวกันก็ยังคงความเป็นชุมชนเก่าที่ซ่อนตัวอยู่สองฝั่งคลองมหาสวัสดิ์
ศาลายาและพื้นที่โดยรอบจึงถือเป็นส่วนร่วมของทั้งชุมชนเก่าและชุมชนใหม่ ในขณะที่ชุมชนเก่าจะตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณเส้นทางคมนาคมทางน้ำ ชุมชนใหม่ก็ได้ปรากฏตัวอยู่ริมเส้นทางคมนาคมทางบก ความหลากหลายทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมจึงเกิดขึ้น หากมองจากวิถีชีวิตและเส้นทางในการดำรงชีวิตแล้ว โอกาสที่ผู้คนจากสองชุมชนจะได้ยิน “เสียง” และ “รับรู้” การมีตัวตนอยู่ของกันและกันจึงไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นบ่อยนัก
โครงการ “ศาลายาเนี่ยนร่วมสมัยเพื่อการสร้างความหลากหลายทางสังคม ผ่านกระบวนการศิลปะกับชุมชน” โดยกลุ่มศาลายาเนี่ยน จึงออกแบบกิจกรรมสร้างสรรค์ทางศิลปะ ที่เปิดโอกาสให้ผู้คนในชุมชนศาลายาและพื้นที่โดยรอบมีโอกาสสะท้อนเสียงของคนใน ที่มีต่อพื้นที่ ผู้คน และชุมชนซึ่งเต็มไปด้วยความหลากหลาย ขณะเดียวกันก็เปิดโอกาสให้ศิลปินได้ร่วมสะท้อนภาพชุมชนศาลายาและพื้นที่โดยรอบในมุมมองของคนนอก
การดำเนินโครงการนี้ใช้แนวทางการสร้างสรรค์งานศิลปะร่วมสมัยที่ผสานกับการทำงานชุมชน โดยแบ่งการทำงานออกเป็น 2 ส่วน คือ
ส่วนของการทำงานร่วมกับชุมชน ด้วยการจัดกิจกรรมเชิงปฏิบัติการทางการสร้างสรรค์ผสานกับการเก็บข้อมูลชุมชนในพื้นที่ศาลายาและพื้นที่โดยรอบ มีการลงพื้นที่สำรวจชุมชน 5 ครั้ง ระหว่างเดือนมกราคม – มีนาคม พ.ศ. 2564 รวมทั้งการสำรวจชีวิตผู้คนศาลายาผ่านสายตาของเหล่าศิลปินซึ่งเป็นคนนอกพื้นที่ ด้วยการเยี่ยมชมวิถีชีวิตเกษตรกรและชุมชนตลาดเก่า เพื่อรับฟังข้อมูลทางประวัติศาสตร์ ในวันที่ 3 และ 7 มีนาคม พ.ศ. 2564 ณ ชุมชนคลองมหาสวัสดิ์ ชุมชนตลาดเก่าหลังทางรถไฟศาลายา ชุมชนคลองนราภิรมย์ และคลองทวีวัฒนา
ส่วนของการทำงานสร้างสรรค์ ประกอบด้วยการผลิตโปสต์การ์ดที่มีการบันทึกถ้อยคำต่าง ๆ ของคนในชุมชน นำเสนอในนิทรรศการศิลปะชื่อ “Seeing comes along words” สะท้อนสายตาของคนนอกและถ้อยคำความคิดเห็นของคนในชุมชน โดยจัดพิมพ์ทั้งหมด 18 แบบ จำนวน 3,600 ใบ
มีการออกแบบกิจกรรมเชิงปฏิบัติการทางการสร้างสรรค์ ทำกิจกรรมร่วมกับเด็กในชุมชน โดยเปิดโอกาสให้เด็กได้เรียนรู้และทบทวนมุมมองของตนเองที่มีต่อชุมชนผ่านวัตถุ และนำมาพิมพ์เป็นภาพด้วยเทคนิคไซยาโนไทป์ (cyanotype) ซึ่งนำไปสู่การวิเคราะห์ชุมชนในเชิงมานุษยวิทยา และเป็นหนึ่งในข้อมูลการทำงานของศิลปิน กิจกรรมนี้มีผู้เข้าร่วม 20 คน และอีกกลุ่มเข้าร่วมเวิร์กช็อปผ่านช่องทางออนไลน์ โดยผู้จัดกิจกรรมได้เตรียมและจัดส่งอุปกรณ์สำหรับพิมพ์ภาพไซยาโนไทป์ให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมล่วงหน้าทางไปรษณีย์
จากสายตาของคนนอกและมุมมองของคนในต่อพื้นที่ศาลายาที่นำมารวมกันอย่างสร้างสรรค์ และเผยแพร่ออกมาในรูปของภาพถ่ายและโปสต์การ์ดที่จัดแสดงภายในพื้นที่ รวมทั้งการใช้แนวทางการสร้างสรรค์งานศิลปะร่วมสมัยที่ผสานกับการทำงานชุมชนของกลุ่มศาลายาเนี่ยนในครั้งนี้ ได้เปิดพื้นที่ในการสะท้อนความคิดและความต้องการของคนในชุมชน ที่จะนำไปสู่การเรียนรู้ สร้างความเข้าใจ และเชิญชวนให้คนนอกได้เข้ามาทำความรู้จักกับพื้นที่ศาลายาในมิติที่แตกต่างไปจากเดิม