คลิกที่นี่เพื่อสนทนา Facebook Logo

กองทุนส่งเสริมศิลปะร่วมสมัย ร่วมรับชมผลงานศิลปะโครงการเล่นแร่แปรธาตุ : จากเรื่องเล่าสู่งานศิลปะ

20/05/2023

กองทุนส่งเสริมศิลปะร่วมสมัย ร่วมรับชมผลงานศิลปะโครงการเล่นแร่แปรธาตุ : จากเรื่องเล่าสู่งานศิลปะ

สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม โดยกองทุนส่งเสริมศิลปะร่วมสมัย ร่วมรับชมผลงานศิลปะโครงการเล่นแร่แปรธาตุ : จากเรื่องเล่าสู่งานศิลปะ ซึ่งเป็น 1 ใน 34 โครงการที่ได้รับการส่งเสริมจากกองทุนส่งเสริมศิลปะร่วมสมัย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566

.

วันเสาร์ที่ 20 พฤษภาคม 2566

เวลา 13.00 น. นางสาวศิริวัฒน์ แสนเสริม คณะกรรมการบริหารกองทุนส่งเสริมศิลปะร่วมสมัย นางสาวสมพร พานทอง ผู้แทนผู้อำนวยการสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย พร้อมด้วยข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ศูนย์เครือข่ายสัมพันธ์และแหล่งทุน เข้าร่วมรับชมผลงานศิลปะ ณ หอสมุดนิลเซนเฮส์

.

อาคารหอสมุดนิลเซนเฮส์ เป็นอาคารสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นของสถาปนิกชาวอิตาลี Mario Tamagno สร้างอยู่บนพื้นที่ใจกลางกรุงเทพมหานคร ผ่านกาลเวลายาวนานกว่าหนึ่งร้อยปี เป็นจุดเริ่มต้นของการนำ “เรื่องเล่า” มาเป็นแรงบันดาลใจสู่ศิลปะแขนงอื่น โดยในปีนี้มีการจัดกิจกรรมการสร้างสรรค์ผลงานของศิลปินศิลปาธร ศิลปินร่วมสมัย และนักศึกษา เมื่อวันที่ 6 และ 13 พฤษภาคม และนำมาจัดแสดง ณ หอสมุดนิลเซนเฮส์ กรุงเทพฯ

…..

โครงการนี้ มุ่งให้เกิดผลลัพธ์ของการผสมผสานการออกแบบภาพประกอบและกราฟิกกับงานเซรามิค การผสมผสานศิลปกรรมหลากแขนง ได้แก่ สถาปัตยกรรม (Architecture), สิ่งทอ (Textiles), ภาพประกอบ (Illustration) และ การออกแบบตัวละคร (Character Design) โดย 5 ศิลปิน ได้แก่ นายฉัตรพงษ์ ชื่นฤดีมล จาก CHAT Architects นายจักรกฤษณ์ อนันตกุล จาก Hello iam JK นายปราชญ์ นิยมค้า จาก Mann Craft นายวาสิทธิ์ จินดาพร และนายภาคภูมิ นรังศิยา จาก WK. Studio

.

นอกจากสร้างแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยหลากหลายแขนงผ่านเรื่องเล่าแล้ว ยังเป็นการเผยแพร่องค์ความรู้ด้านศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยแก่เยาวชนผู้สนใจงานศิลปะและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างศิลปินในลักษณะศิลปะข้ามสาขา รวมถึงส่งเสริมให้เกิดการสร้างเรื่องเล่าให้แก่สถานที่และสินค้าที่สร้างความน่าสนใจแก่การท่องเที่ยวและนำไปสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งมีผู้เข้าร่วมเสวนาทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติกว่า 100 คน สร้างการรับรู้จากสื่อสังคมออนไลน์กว่า 300 คน เป็นการจุดประกายให้เกิดกระแสการผสมผสานของศิลปะร่วมสมัยหลากสาขาได้อย่างกลมกลืนและลงตัว