ประติมากรรมพญานาค 4 ตระกูล ฟื้นตลาดชุมชนที่เคยซบเซา ให้กลับมามีชีวิต
บึงกาฬ จังหวัดที่ล้อมรอบไปด้วยภูเขา ผาหิน ทัศนียภาพอันสวยงามและเงียบสงบ ณ พิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิต บ้านขี้เหล็กใหญ่ ตำบลหนองพันทา อำเภอโซ่พิสัย จังหวัดบึงกาฬ ที่นั่นมีพื้นที่สวนยางพาราที่เดิมเคยเป็นตลาดชุมชนขนาดเล็ก แต่ด้วยทางเดินดินลูกรังที่ชื้นแฉะ ที่ทางที่ไม่สะดวกต่อการเดินจับจ่ายใช้สอย บรรยากาศการซื้อขายจึงไม่คึกคักอย่างที่ควรจะเป็น
สุทธิพงษ์ สุริยะ ฟู้ดสไตลิสต์ผู้ใช้ศิลปะพัฒนาชุมชนบ้านเกิดมาอย่างต่อเนื่อง หนึ่งในการใช้ศิลปะเป็นเครื่องมือในการสร้างสรรค์ชุมชนคือ ผลที่ได้จาก “โครงการประติมากรรมพญานาค 2 ฝั่งโขงในชุมชน” ซึ่งเริ่มขึ้นในปี พ.ศ. 2563 จากตำนาน ความเชื่อ ประกอบกับพลังศรัทธาและความคิดสร้างสรรค์ พญานาคจึงไม่ได้อยู่แค่ในวัดหรือสถานที่สักการะสำหรับกราบไหว้บูชา แต่ยังกลายมาเป็นประติมากรรมพญานาคสีสันสะดุดตา ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้แวะเวียนมาสัมผัสกับวัฒนธรรมท้องถิ่นและวิถีความเป็นอยู่ของคน 2 ฝั่งโขง อันมีสายน้ำและศรัทธาเป็นตัวเชื่อมโยง
ในปี พ.ศ. 2564 ศิลปะได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงและพัฒนาชุมชนที่ซ่อนตัวอยู่ในธรรมชาติอันเงียบสงบอีกครั้ง ภายใต้ “โครงการตลาดชุมชนพญานาค 4 ตระกูล” ณ พิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิต จากตำนานเล่าขานที่เชื่อกันว่าพญานาคมีวงศ์วานมากมาย แต่พญานาคที่มีฤทธิ์เดชมากที่สุดคือพญานาค 4 ตระกูล โดยในพระไตรปิฎกบันทึกไว้ว่าพญานาคทั้ง 4 ตระกูลนั้นมีอิทธิฤทธิ์และถิ่นที่อยู่ต่างกัน ได้แก่ พญานาคสีทอง (นาคตระกูลวิรูปักษ์) ถือเป็นพญานาคชั้นสูง มีลักษณะโดดเด่น สวยงาม อาศัยอยู่ในสวรรค์ชั้นจตุมหาราชิกา พญานาคสีเขียว (นาคตระกูลเอราปถะ) เป็นหนึ่งในพญานาคชั้นสูงอีกตระกูล อาศัยอยู่ในเมืองบาดาล พญานาคสีรุ้ง (นาคตระกูลฉัพพยาบุตร) มีถิ่นที่อยู่หลากหลาย ทั้งเมืองบาดาล ใต้ดิน ในป่าลึกบนภูเขา และพญานาคสีดำ (นาคตระกูลกัณหาโคตมกะ) มีถิ่นที่อยู่เร้นลับ ไม่ถือเป็นพญานาคชั้นสูง แต่ก็เป็นตระกูลที่มีฤทธิ์เดชไม่แพ้พญานาคตระกูลอื่น
เหล่าพญานาค 4 ตระกูลจากหลากหลายถิ่นที่อยู่ก็ได้แปลงร่างเป็นประติมากรรมขนาดใหญ่ เข้ามาเปลี่ยนแปลงพื้นที่ใต้สวนยางพาราที่เคยชื้นแฉะให้กลายเป็นตลาดชุมชนที่คึกคัก มีจุดขายที่ชัดเจน ไม่ซ้ำใคร และสะท้อนอัตลักษณ์ความเป็น “บึงกาฬ” ออกมาได้อย่างงดงาม
พญานาคทั้ง 4 ตระกูลเกิดขึ้นจากความร่วมมือของช่างท้องถิ่น อาจารย์และนักศึกษาซึ่งเป็นทีมปั้นจากสาขาทัศนศิลป์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี โดยหมุนเวียนกันมาปั้นพญานาคทั้ง 4 ตระกูล และปรับพื้นที่ทางเดินให้เป็นซีเมนต์ เพื่อผู้คนจะเดินจับจ่ายใช้สอยกันได้สะดวก โครงการนี้ยังถือเป็นการส่งเสริมและถ่ายทอดความรู้ให้นักศึกษามีโอกาสฝึกทดลองสร้างผลงานจริงร่วมกับศิลปิน และยังเป็นการสร้างรายได้และกระตุ้นเศรษฐกิจให้แก่ชุมชน ด้วยการเปิดพื้นที่ให้คนในชุมชนนำสินค้ามาวางจำหน่ายแบบไม่มีค่าใช้จ่าย เมื่อชาวบ้านมีรายได้จากตลาดชุมชนพญานาค 4 ตระกูล ก็จะนำไปทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาต่อไป
หลังจากพญานาคทั้ง 4 ตระกูลปรากฏตัวขึ้นได้ไม่นาน ชาวบ้านในชุมชนได้มีโอกาสกลับมาค้าขายในพื้นที่ของตนเอง ซึ่งต่างไปจากเดิม เพราะมีการออกแบบด้วยศิลปะร่วมสมัย ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้อยากมาจับจ่ายใช้สอย ชาวบ้านเองก็สามารถกำหนดราคาสินค้าได้เองตามความเหมาะสม ตลาดแห่งนี้จึงกลับมามีชีวิตและคึกคักขึ้นมากกว่าเดิม ทั้งยังเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้คนหันมาสนใจและให้คุณค่ากับงานสาขาทัศนศิลป์และประติมากรรมมากยิ่งขึ้น
จากเดิมที่เรามักเห็นพญานาคทั้ง 4 ตระกูล ในวัดวาอาราม บนภูเขาสูง และสถานที่สำหรับสักการบูชา แต่พญานาค 4 ตระกูลนี้กลับปรากฏตัวอยู่ในตลาดท่ามกลางวิถีชุมชนของชาวบ้านบึงกาฬ ไม่ว่าจะเป็นอาหาร ศิลปะท้องถิ่น สินค้าเกษตร และอัตลักษณ์ชุมชนอีกมากมายที่อบอวลอยู่ในบรรยากาศของตลาดแห่งนี้ นี่จึงกลายเป็นจุดขายใหม่ของตลาดชุมชน ซึ่งเป็นการใช้ศิลปะมาเปลี่ยนแปลงเพื่อสร้างคุณค่าให้ชุมชนอย่างยั่งยืน ที่ควรค่ากับการได้ไปลองสัมผัสด้วยตนเองสักครั้ง